ความรู้เกี่ยวกับหนู (Knowledge about Rats)
หนู : เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีวงจรชีวิตประมาณ 3-4 เดือน, โดยเฉลี่ยมีลำตัวยาวประมาณ 35-45 เซนติเมตร, มีฟันแหลมคม 2 คู่ ทั้งบนและล่าง ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษและคม มีลักษณะโค้งยื่น เพื่อใช้สำหรับกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ, ฟันของหนู จะสามารถ เจริญงอกได้ตลอดชีวิต
หนู เป็นศัตรูที่สำคัญของมนุษย์ นำความเสียหายแก่เศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ในทางตรง คือ การกัดกินพืชผลทางการเกษตร เครื่อง อุปโภคและบริโภค และ หนู ยังเป็นสัตว์พาหะสำคัญที่นำโรคหลายชนิดมาสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น โรคฉี่หนู, กาฬโรค, เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น ส่วนในทางอ้อม คือ การกัดแทะตาามสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน สายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในอาคาร ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
หนู ที่มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข : โดยเฉพาะหนูที่อาศัยทำรังและหากินอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบ ๆ บ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ มี 4 ชนิด ได้แก่
1. หนูนอร์เวย์ (Rattus Norvegicus)
บางที่เรียก หนูขยะ หนูท่อ หนูสีน้ำตาล หนูชนิดนี้เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล, มีน้ำหนักตัว 300-350 กรัม บางตัวอาจมี น้ำหนักถึง 400 กรัม, ขนาดลำตัวและหัวยาว ประมาณ 180-250 มิลลิเมตร, หางยาวประมาณ 150-220 มิลลิเมตร, ตีนหลังยาวประมาณ 35 – 40 มิลลิเมตร, หูยาวประมาณ 17-23 มิลลิเมตร
- ลักษณะรูปร่าง ขนหยาบ มีสีน้ำตาลปนเทา ห้องสีเทา ส่วนจมูกทู่ ใบหูเล็ก ตาเล็ก หางสั้นมี 2 สี ด้านบนสีดำ ด้านล่างสีจาง มีเกล็ดหยาบๆ ที่หาง และด้านบนของตีนหลังมีสีขาว มีเต้านมรวม 6 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ ท้อง 3 คู่
- มักอาศัยอยู่ ตามรู ตามท่อระบายน้ำโสโครก ท่อน้ำ ใต้ถุนตึกหรือบ้านเรือน บริเวณลำคลอง กองขยะมูลฝอย ไม่ชอบขึ้นที่สูง กินอาหารบูดเน่า พวกแป้ง ผัก เนื้อ และปลา การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4 – 7 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 8 –12 ตัว ระยะทาง การหากิน 250 – 300 ฟุต, ลักษณะมูล หนู มีขนาดใหญ่ คล้ายแคปซูลยาวประมาณ 12 – 15 มิลลิเมตร
2. หนูท้องขาว (Rattus Rattus)
บางครั้งเรียก หนูหลังคา (roof rat) เป็นหนูตระกูล Rattus ที่มีขนาดใหญ่ปานกลาง รูปร่างเพรียว มีน้ำหนักตัว 90-250 กรัม บางตัวอาจมี น้ำหนัก 360 กรัม ขนาดลำตัว และหัวยาวประมาณ 182 มิลลิเมตร หางยาวประมาณ 188 มิลลิเมตร ตีนหลังยาวประมาณ 33 มิลลิเมตร ความยาวใบหูประมาณ 23 มิลลิเมตร มีเต้านมรวม 5-6 คู่ อยู่ที่อก 2 คู่ที่ท้อง 3 คู่
- ลักษณะรูปร่าง ขนด้านหลังมีสีน้ำตาล (ฐานขนสีเทาปลายสีน้ำตาล) ไม่มีขนคล้ายหนาม (spine) ขนส่วนท้องมีสีขาวปนเทาหรือ เหลืองครีม จมูกแหลม ตาโปน มีขนาดหูใหญ่ หางมีสีดำและมีเกล็ดละเอียดตลอดหาง ความยาวของหางมากกว่าความยาวของลำตัว
- ชอบอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หลังคาบ้าน บริเวณกันสาดใต้หลังคา ถ้าบริเวณรอบบ้านมีต้นไม้ แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ใกล้เคียง อาจพบหนูท้องขาวและรังอยู่บนต้นไม้นั้นด้วย มีความสามารถในการปีนป่ายเก่งกินอาหารทุกชนิด อาหารที่ชอบมากคือ เมล็ดพืช เช่น ข้าวเปลือก ถั่วข้าวโพด การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4 – 6 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 6 – 8 ตัว ระยะทางหากิน 100 – 150 ฟุต ลักษณะมูล เป็นรูปกระสวย ปลายแหลม ขนาดความยาวประมาณ 10 – 12 มิลลิเมตร
3. หนูจี๊ด (Rattus Exulans)
เป็นตระกูลของ Rattus ที่มีขนาดเล็ก แต่ตัวโตกว่าหนูหริ่ง น้ำหนักตัวประมาณ 36 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 115 มิลลิเมตร หางยาวประมาณ 128 มิลลิเมตร ตีนหลังยาวประมาณ 23 มิลลิเมตร ความยาวหูประมาณ 16 มิลลิเมตร มีเต้านมรวม 4 คู่ อยู่ที่หน้าอก 2 คู่ ที่ท้อง 2 คู่
- ลักษณะรูปร่าง เพรียว จมูกแหลม ตาโต หูใหญ่ ขนด้านหลังสีน้ำตาลมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีขนแข็ง (spine) ขึ้นแซมบ้างเล็กน้อย ขนด้านท้องสีเทา ผิวหางเรียบไม่มีเกล็ดมีสีดำตลอด
- อาศัยอยู่ ตามบ้านเรือน ชอบที่สูงตามซอกมุมที่ลับตาอาคาร บนเพดาน และมีความสามารถในการปีนป่ายเก่งเหมือนหนูท้องขาว
- การแพร่พันธุ์ ตัวเมียออกลูกครั้งละ 8 – 12 ตัว ระยะทางหากิน 20 – 50 ฟุต เวลาออกหากินกลางคืนจะส่งเสียงร้องจี๊ด ๆ ให้ได้ยิน
4. หนูหริ่ง (Mus Musculus)
หนูหริ่งบ้าน หรือ หนูไมซ์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จัดอยุ่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ในวงศ์ตระกูลหนู (Muridae)
- ลักษณะรูปร่าง จมูกแหลม ขนด้านหลังสีเทาบางทีมีสีน้ำตาลปน มีลักษณะอ่อนนุ่ม ขนด้านท้องสีขาว ส่วนหาง มี 2 สี ด้านบนสีดำ ส่วนด้านล่างสีจางกว่า ถิ่นที่อยู่อาศัย ตามบ้านเรือน มักชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามตู้ โต๊ะ ที่เก็บของ ตามช่อง ฝาผนัง ตามครัว กินอาหาร ได้ทุกชนิด แต่ชอบพวกเมล็ดพืช
- การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละประมาณ 8 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 5 – 6 ตัว ระยะทางการหากิน 10 – 30 ฟุต ลักษณะมูลหนู ขนาดเล็กกลมยาวปลายแหลมมีขนปน
วงจรชีวิตหนู
การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตหนู
หนูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความสามารถในการผสมพันธุ์ และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จากการศึกษาสำรวจพบว่า พวกหนูนอร์เวย์ และ หนูท้องขาวสามารถมีลูกได้ครั้งแรกอายุประมาณ 3 – 5 เดือน เมื่อผสมแล้วจะตั้งท้องเพียง 21 – 22 วัน สำหรับหนูมีลูกติด ๆ กันไม่หยุด ในท้องหลัง ๆ อาจตั้งท้องนาน 23 – 29 วัน ส่วนในหนูหริ่งนั้น หลังผสมพันธุ์อาจตั้งท้องประมาณ 19 วัน ภายใน 48 ชั่วโมง หลังคลอด ความยืนยาวของชีวิตหนูแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่ไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น หนูท้องขาวอาจจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 2 ปี
พฤติกรรมของหนู
การเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไป หนูมีความสามารถในการเรียนรู้ คุ้นเคยและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดี การเป็นอยู่ในรังจะมี หัวหน้า ทำหน้าที่ออกสำรวจหาอาหาร หนูตัวเมียถ้ามีลูกโตพอสมควรมันจะพาลูกๆ ออกไปหากินพร้อมๆ กัน และสอนให้ลูกๆ รู้จักหา อาหารโดยปลอดภัย ลูกหนูเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน แล้วมักแยกตัวมาอยู่อิสระในช่วงนี้หนูจะมีความรวดเร็วว่องไวในการเคลื่อนไหว และหากินมาก
การติดต่อของโรคกาฬโรค
“โรคกาฬโรค” เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีแหล่งรังโรคคือสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Yersinia pestis และมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค เกิดจากถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่ผู้ถูกกัด โดยทั่วไปมีการระบาดของโรคในหนูก่อน เมื่อหนูตายหมัดหนูจะกระโดดลงไปยังสัตว์อื่น หรือคน เมื่อกัดจะปล่อยเชื้อให้แก่สัตว์ หรือผู้ถูกกัดต่อไป ส่วนใหญ่จะพบการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาวและในบริเวณที่มีกลุ่มประชากรอยู่กันอย่างแออัด การดูแลเรื่องความสะอาด และควบคุมการแพร่พันธุ์ของหนูจะสามารถทำให้มีโรคระบาดน้อยลง