ความรู้เกี่ยวกับยุง (Knowledge about Mosquito)
ยุง มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis หรือ holometabola) การเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ต้องมีการลอกคราบ (molting) ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สำคัญ 3ชนิด คือ brainhormone, ecdysone และ juvenilehormone
รูปร่างของยุงในแต่ละระยะ
แตกต่างกันมาก แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
1. ระยะไข่ (Egg)
ไข่ยุงแต่ละชนิดมีขนาดและลักษณะไม่เหมือนกัน จากลักษณะการวางไข่อาจบอกชนิดของกลุ่มยุงได้ ยุงชอบวางไข่ บนผิวน้ำหรือบริเวณชื้นๆ เช่น บริเวณขอบภาชนะเหนือระดับน้ำ
- การวางไข่ของยุง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
- วางไข่ใบเดี่ยวๆ บนผิวน้ำ เช่น ยุงก้นปล่อง
- วางไข่เป็นแพ (raft) บนผิวน้ำ เช่น ยุงรำคาญ
- วางไข่เดี่ยวๆ ตามขอบเหนือระดับน้ำ เช่น ยุงลาย
- วางไข่ติดกับใบพืชน้ำเป็นกลุ่ม เช่น ยุงเสือ หรือ ยุงฟิลาเรีย
- ระยะไข่ ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ ในยุงบางชนิดไข่สามารถอยู่ในสภาพแห้งได้หลายเดือนจนกระทั่งเป็นปี เมื่อมีน้ำ ก็จะฟักออกเป็นลูกน้ำ
- แหล่งวางไข่ของยุงแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น
- ส่วนยุงรำคาญชอบ วางไข่ในแหล่งน้ำสกปรกต่างๆ น้ำเสียจากท่อระบายน้ำ แต่หากไม่พบสภาพน้ำที่ชอบ ยุงก็อาจวางไข่ในสภาพน้ำ ที่ผิดไป
- นักวิทยาศาสตร์หลายคนรายงานว่า ปัจจัยที่ช่วยให้ยุงตัวเมียรู้ว่าควรจะวางไข่ที่ใด ก็คือ สารเคมีบางอย่างในน้ำ สารเคมีนี้อาจเป็น พวก diglycerides ซึ่งผลิตโดยลูกน้ำยุงที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น หรือเป็นกรดไขมัน (fatty acid) จากแบคทีเรีย หรือ เป็นสารพวก phenoliccompounds จากพืชน้ำ
2. ระยะลูกน้ำ (Larva)
ลูกน้ำยุงแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในน้ำต่างชนิดกัน เช่น ตามภาชนะขังน้ำต่างๆ ตามบ่อน้ำ หนองลำธาร โพรงไม้หรือ กาบใบไม้ที่อุ้มน้ำ ลูกน้ำยุงส่วนใหญ่ลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยมีท่อสำหรับหายใจ เรียกว่า siphon ยกเว้นยุงก้นปล่องไม่มี ท่อหายใจ แต่จะวางตัวขนาน กับผิวน้ำ โดยมีขนลักษณะคล้ายใบพัด (palmate hair) ช่วยให้ลอยตัวและหายใจทางรู หายใจ (spiracle)
- ส่วนยุงเสือ (Mansonia sp.) จะใช้ท่อหายใจซึ่งสั้นและปลายแหลมเจาะ พวกพืชน้ำ และหายใจเอาออกซิเจนผ่านรากและลำต้น ของพืช
- น้ำ อาหารของลูกน้ำยุง ได้แก่ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำนั่นเอง เช่น แบคทีเรีย ยีสต์สาหร่าย ลูกน้ำจะลอกคราบ 4 ครั้ง เมื่อ ลอกคราบ ครั้งสุดท้ายกลายเป็น ตัวโม่ง
- การเจริญเติบโตในระยะลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของลูกน้ำอาหารอุณหภูมิและความหนาแน่นของลูกน้ำด้วย
3. ระยะตัวโม่ง (Pupa)
ตัวโม่งรูปร่างผิดไปจากลูกน้ำ ส่วนหัวเชื่อมต่อกับส่วนอก รูปร่างลักษณะคล้าย เครื่องหมายจุลภาค ( , ) ระยะนี้ ไม่กินอาหาร เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีท่อหายใจคู่หนึ่งที่ส่วนหัว เรียกtrumpets ระยะนี้สั้นใช้เวลาเพียง 1-3 วัน
4. ระยะตัวเต็มวัย (Adult)
ตัวยุงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
- ส่วนหัว (head) มีลักษณะ กลมเชื่อมติดกับส่วนอก ประกอบด้วย ตา 1 คู่ ตาของยุง เป็นแบบตาประกอบ(compoundeyes) มีหนวด (antenna) 1 คู่ ระยางค์ปาก(palpi) 1 คู่ และมีอวัยวะเจาะดูด (proboscis) 1 อัน มีลักษณะเป็น แท่งเรียวยาวคล้ายเข็ม สำหรับ แทงดูด อาหาร
- หนวดของยุง แบ่งเป็น 15 ปล้อง สามารถใช้จำแนกเพศของยุงได้แต่ละปล้องจะมีขนโดยรอบ ในยุงตัวเมียขนนี้จะสั้นและ ไม่หนาแน่น (sparse) เรียกว่า pilose antenna ส่วนตัวผู้ ขนจะยาวและเป็นพุ่ม (bushy) เรียกว่า plumose antenna
- หนวดยุง เป็นอวัยวะที่ใช้ในการ รับคลื่นเสียง ตัวผู้จะใช้รับเสียงการกระพือปีกของตัวเมีย, ความชื้นของอากาศ, รับกลิ่น
- Palpi แบ่งเป็น 5 ปล้อง อยู่ติดกับ proboscis ในยุงก้นปล่องตัวเมีย palpi จะตรง และยาวเท่ากับ proboscis
- ส่วนยุงตัวผู้ ตรงปลาย palpi จะโป่งออกคล้ายกระบอง ในยุงอื่นที่ไม่ใช่ยุงก้นปล่อง palpi ของตัวเมียจะสั้นประมาณ 1/4 ของ proboscis ส่วนตัวผู้ palpi จะยาวแต่ตรงปลายไม่โป่งและมีขนมากที่สองปล้องสุดท้ายซึ่งจะงอขึ้น
- ส่วนอก (thorax) มีปีก 1 คู่ ด้านบนของอก(mesonotum) ปกคลุมด้วยขนหยาบๆ และเกล็ด ซึ่งมีสีและลวดลายต่างๆ กัน เราใช้ ลวดลายนี้สำหรับแยกชนิดยุงได้ด้านข้างของอกมีเกล็ดและกลุ่มขน ซึ่งใช้แยกชนิดของยุงได้เช่นกัน ด้านล่างของอกมีขา แต่ละขา แบ่งออกเป็นช่วงต่างๆ คือ coxa ซึ่งมีขนาดสั้นอยู่ที่โคนสุด ต่อไปเป็น trochanter คล้ายๆ บานพับ, femur, tibia และ tarsus ซึ่งมีอยู่ 5 ปล้อง ปล้องสุดท้ายมีหนามงอๆ 1 คู่ เรียกว่า claws ขาก็ มีเกล็ดสีต่างๆ ใช้แยกชนิดของยุงได้ปีกมีลักษณะแคบและยาว มีลาย เส้นปีก (veins) ซึ่ง มีชื่อเฉพาะของแต่ละเส้นปีกจะมีเกล็ดสีต่างๆ กัน ตรงขอบปีกด้านหลังจะมีขนเรียงเป็นแถว เรียก fringe เกล็ดและขนบนปีกนี้ก็ใช้ในการแยกชนิดของยุงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี halteres 1 คู่ มีลักษณะเป็นปุ่มเล็กๆ อยู่ต่อหลังจากปีก เมื่อยุงบิน halteres จะสั่นอย่างเร็ว ใช้ประโยชน์ในการทรงตัวของยุง
- ส่วนท้อง (abdomen) มีลักษณะกลม ยาว ประกอบด้วย 10 ปล้อง แต่จะเห็นชัด เพียง 8 ปล้อง ปล้องที่9-10 จะดัดแปลงเป็นอวัยวะ สืบพันธุ์ในยุงตัวผู้จะใช้ส่วนนี้ใช้แยกชนิด ของยุงได้
วงจรชีวิตยุง
ยุง ที่สำคัญในทางการแพทย์ มี 4 สกุล คือ
- ยุงลาย นำพาหะโรคไข้เลือดออก
- ยุงรำคาญ นำพาหะโรคไข้สมองอักเสบ
- ยุงก้นปล่อง นำพาหะโรคมาเลเรีย
- ยุงเสือ นำพาหะโรคเท้าช้าง
หวังว่าเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับยุง จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะครับ หากคุณสนใจที่จะกำจัดยุงภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ทาง Dr.ปลวก ก็ยังรับบริการกำจัดยุง ให้เราจัดการ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน และคนที่คุณรักนะครับ