สาเหตุโรคจากอาคาร
โรคและกลุ่มอาการป่วยจากอาคาร เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคาร โดยเป็นผลจากการสัมผัสกับสารพิษหรือ สารเคมีอันตรายในอาคารบ้านเรือนหรือที่ทำงาน ซึ่งอาจเป็นอาคารเก่าหรืออาคารที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ก็ได้
ปัจจัยหลักของกลุ่มอาการนี้เกิดจากการอาศัยอยู่ในช่วงเวลานาน ๆ ในอาคารที่มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ใช้ระบบทำความเย็นและ ระบบระบายอากาศหมุนเวียนเพื่อประหยัดไฟฟ้า อาคารดังกล่าวมักปิดมิดชิด ไม่เปิดหน้าต่าง อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้ภายในอาคาร อบอวลไปด้วยสารมลพิษในอากาศหลายชนิด ได้แก่ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) โดยเฉพาะ ฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของกาวที่มักใช้กับเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น พาร์ทิเคิลบอร์ด ไม้อัด รวมถึงผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์ พรม วัสดุฉนวน น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง ตลอดจนสีทาบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีอยู่ ในอากาศมากกว่า 0.1 ppm (ส่วนในล้านส่วนของอากาศ) อาจทำให้แสบตา ระคายเคืองเยื่อจมูกและคอ คลื่นไส้ ไอ แน่นหน้าอก เป็นผื่นแพ้ องค์การอนามัยโลกได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าสารนี้เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ เกิดมะเร็งในคนได้ ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า ร้อยละ 90 ของอาคารที่มีการตกแต่งห้องใหม่ ใช้เฟอร์นิเจอร์ใหม่ มีปริมาณของ ฟอร์มาลดีไฮด์เกินมาตรฐาน หรือแม้แต่อาคารที่ใช้งานมานานแล้ว ฟอร์มาลดีไฮด์ก็ยังสามารถระเหยต่อเนื่องได้อีกนานหลายปี
สารมลพิษที่พบได้ทั่วไปในอาคารที่เป็นสาเหตุของโรคจากอาคารยังประกอบไปด้วย
- ฝุ่นละอองและควันพิษ ทั้งจากภายนอกอาคารที่ฟุ้งกระจายและเล็ดลอดเข้าไปรวมทั้งฝุ่นภายในอาคารเองโดยเฉพาะในสำนักงาน บริเวณเครื่องถ่ายเอกสาร จะมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนปริมาณมาก ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าไปสู่ระบบ หายใจ ทำให้ระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หรือมีการสะสมของฝุ่นในถุงลมปอด ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอด เสื่อมลง
- เชื้อรา ในอาคารที่อับทึบ หากไม่มีการดูแลรักษาระบบทำความเย็นและระบบระบายอากาศอย่างเหมาะสม จะก่อให้เกิดความชื้นใน อากาศ ส่งผลให้สปอร์รามีการเจริญแพร่กระจายและสะสมในอาคารโดยเฉพาะห้องที่ปูพรมและเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวัน ความเย็นจะส่งผ่านไปยังพรมทำให้เกิดความชื้น เกิดเชื้อราหมักหมมใต้พรมทำให้เกิดโรค เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด โรคโพรงจมูก อักเสบ ระคายเคืองตา เป็นต้น
- เชื้อโรคและสารชีวภาพอื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส มูลนก ละอองเกสร ขนสัตว์ ฯลฯ สารเหล่านี้มักปนเปื้อนและฟุ้งกระจายในห้อง นอกจากนี้ ยังมีเชื้อโรคที่แพร่จากคนที่พักอาศัยอยู่ในอาคาร เมื่อมีการไอหรือจามก็จะทำให้เชื้อโรคกระจายวนเวียนอยู่ในอาคาร ซึ่งหากมีคนอยู่แออัดมากเกินไปก็จะยิ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมากขึ้น
- ไรฝุ่น มักอาศัยในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะ พบมากตามที่นอน ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม และผ้าม่าน ผู้ป่วยที่มี อาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น มักจะมีอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล คันคอ ไอ หรือ หอบหืด และเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
- ยาฆ่าแมลง ยากำจัดปลวก หนู แมลงสาบที่ใช้ในอาคารบ้านเรือน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ผู้ที่ได้รับสัมผัสมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก ตาพร่ามัว ม่านตาหรี่ น้ำลายและเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง
- ก๊าซและสารระเหย เช่น ก๊าซหุงต้ม และเบนซีน (Benzene) เป็นต้น ซึ่งเป็นสารที่ปล่อยออกมาระหว่างการสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของ เครื่องยนต์ กาว สี และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไอระเหยของเบนซีนทำให้เซื่องซึม เวียนศีรษะ และหมดสติ การสูดดมหรือสัมผัส กับเบนซีนเป็นเวลานานจะมีผลต่อไขกระดูกและทำให้เป็นโรคโลหิตจางและโรคมะเร็งโลหิตได้
- ฉนวนใยหิน ใยแก้ว ที่ใช้ทำวัสดุกันความร้อน ซึ่งอาจมีฝุ่นละอองก่อให้เกิดมะเร็งปอดและปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
- คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องถ่ายเอกสาร คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดอาการปวด ศีรษะ กระวนกระวาย คลื่นไส้ วิงเวียน เมื่อยล้า เซื่องซึม และเกิดความผิดปกติสำหรับหญิงมีครรภ์และบุตรได้
โรคจากอาคาร ป้องกันได้อย่างไร
โรคจากอาคารสามารถป้องกันได้ตั้งแต่การวางแผนก่อสร้างอาคารที่ได้มาตรฐาน โปร่ง ระบายอากาศได้ดี มีการออกแบบกั้น บริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของสารระเหยแยกจากห้องทำงานของพนักงาน เช่น ห้องถ่ายเอกสาร ห้องปริ้นท์งาน ห้องเก็บ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และกำหนดเขตห้ามสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ควรใช้วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี มีสารมลพิษ และไอระเหยน้อยที่สุด เช่น ใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสมและมีสารป้องกันเชื้อรา ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้จริงหรือ ใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัย ที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จึงไม่ควรใช้พรมโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ควรจัดให้มีระบบ ระบายอากาศที่ดี เช่น ติดตั้งช่องลม หรือพัดลมดูดอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกโดยเฉพาะบริเวณที่มีสารเคมีระเหย ออกมาได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องถ่ายเอกสารหรือห้องที่มีปริ๊นเตอร์ และอาจใช้เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น
สำหรับผู้อยู่อาศัยควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคจากอาคาร ดังต่อไปนี้
- กรณีเป็นอาคารใหม่ ควรเว้นช่วงเวลาที่ให้สีและสารระเหยจากการตกแต่งอาคารระบายออกไปก่อนเข้าใช้อาคาร
- หมั่นทำความสะอาดห้องและเฟอร์นิเจอร์เพื่อลดปริมาณฝุ่นและเชื้อรา สำหรับผ้าม่านและพรมควรทำความสะอาดอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง
- ล้างแผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก 2 สัปดาห์ และทำความสะอาดล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยทุก 6 เดือนต่อครั้ง
- เมื่อปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างให้มีอากาศจากภายนอกหมุนเวียนในอาคาร และควรให้มีแสงแดดส่องเข้ามาในห้อง บ้าง เพื่อลดความชื้นและเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ไอออนลบและโอโซนตามธรรมชาติช่วยในการขจัดสารพิษใน อาคารได้ด้วย
- ควรจัดห้องให้โล่งและมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด อย่าให้มีซอกมุมเก็บฝุ่น
- นำกิจกรรม 5 ส มาใช้ โดยหมั่นรักษาความสะอาดและสะสางวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กระดาษเก่า ๆ ไม่ควรกองทิ้งไว้ เพราะจะ เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น และไม่ควรทิ้งขยะค้างคืนไว้ในสำนักงาน เพราะจะเป็นแหล่งอาหารของหนู และแมลงสาบ ฯลฯ
- นำต้นไม้ในร่มมาปลูกและวางประดับไว้ตามจุดต่าง ๆ ในห้องหรือสำนักงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีแล้ว ยังช่วย ฟอกอากาศและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะไม้ประดับบางชนิดมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษในอากาศได้ เช่น พลูด่าง เดหลี บอสตันเฟิร์น ลิ้นมังกร หมากเหลือง ว่านหางจระเข้ เสน่ห์จันทร์แดง สาวน้อยประแป้ง ออมเงินออมทอง โกสน และไอวี เป็นต้น